วันอาทิตย์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจ

     การทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจเพื่อรักษาโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน หรือที่เรียกว่า coronary angioplasty เป็นการขยายเส้นเลือดหัวใจบริเวณที่มีการตีบตันให้ถ่างออก เพื่อให้เลือดไหลผ่านได้สะดวกขึ้น

วิธีการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจ

หลัก การเบื้องต้นก็คือการเจาะช่องที่ขาหนีบ เพื่อสอดสายยางเข้าไปจนถึงบริเวณที่เส้นเลือดมีการตีบ เพื่อถ่างให้เส้นเลือดส่วนนั้นขยายโป่งออกด้วยวิธีการปั้ม สมัยก่อนการทำบอลลูน จะเจาะที่บริเวณแขน ซึ่งใกล้หัวใจกว่าที่ขาหนีบ แต่เนื่องจากเส้นเลือดที่ขาหนีบ จะใหญ่กว่าที่แขน และสามารถเจาะได้ง่ายกว่า ในปัจจุบันการทำบอลลูน จึงเปลี่ยนมาเจาะที่บริเวณขาหนีบแทน
ปัจจัยประกอบการพิจารณา
ในการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจนั้น แพทย์จำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยหลายๆ อย่างประกอบกัน ได้แก่

1.ขนาดของเส้นเลือดที่ตีบตัน ตำแหน่งและความรุนแรงของการอุดตัน รวมทั้งลักษณะของเส้นเลือดหัวใจ ในผู้ป่วยบางรายพบว่าเส้นเลือดมีลีกษณะที่
คดเคี้ยวมากกว่าปกติ การทำบอลลูนอาจไม่ประสบความสำเร็จ หรือไม่ได้ ผลดีเท่าที่ควร
2.ในแง่ของขนาดเส้นเลือดที่ตีบตัน ส่วนใหญ่แล้วเส้นเลือดหัวใจที่มีขนาดใหญ่กว่า 1 มิลลิเมตร สามารถทำบอลลูนได้ทุกเส้น แต่หากเล็กกว่า 1 มิลลิเมตร แพทย์ก็จะไม่ใช้วิธีนี้ เนื่องจากเส้นเลือดมีขนาดเล็กเกินไป แม้ทำบอลลูนแล้วเลือดก็จะไหลได้ไม่ดี ไม่นานก็ขอดเป็นลิ่มเลือดขึ้นมาอีก โดยทั่วไปพบว่าในผู้ป่วยที่รักษาด้วยการทำบอลลูนร้อยละ 30 หรือประมาณหนึ่งในสามราย มีโอกาสที่เส้นเลือดจะตีบอีก ภายในหนึ่งปี
3.สำหรับตำแหน่งของการอุดตัน และลักษณะของเส้นเลือดหัวใจ ในกรณีที่เส้นเลือดหัวใจมีลักษณะที่
คด เคี้ยวมากผิดปกติ การทำบอลลูนอาจไม่ประสบความสำเร็จ และถือว่าเป็นกรณีที่ยาก พบว่าประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่ทำบอลลูนยากจะเป็นโรคเบาหวานร่วมด้วย และมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานหลายชนิด เส้นเลือดมีความเสียหายเกิดขึ้นมาเป็นเวลานาน อันเนื่องมาจากการดูแลรักษาโรคเบาหวานอย่างไม่มีประสิทธิภาพก่อนหน้านั้น
ข้อบ่งชี้ในการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจ
     1.อาการเจ็บหน้าอกไม่ทุเลาหลังจากรักษาด้วยยาเต็มที่แล้ว
2.พบว่ามีการอุดตันของหลอดเลือดโคโรนารี
3.ภายหลังการเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน
ปัญหาที่อาจพบได้
1.แพ้สารทึบรังสี
2.เลือดออกในตำแหน่งที่ใส่สายสวน
3.เลือดไม่ไหลเวียนไปยังกล้ามเนื้อหัวใจบางส่วน (พบได้น้อยมาก)
4.เกิดอันตรายต่อลิ้นหัวใจ
5.ไตวาย
6.หัวใจเต้นผิดจังหวะ
เทคโนโลยีใหม่อาศัยคลื่นแม่เหล็กนำวิธี

ปัจจุบัน ได้มีการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ โดยอาศัยคลื่นแม่เหล็กเป็นวิถีนำทาง เรียกว่า 'magnetic navigation system' หรือ 'magnetic-assisted interventions' (MAI) เริ่มมีการใช้อย่างแพร่หลายในต่างประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกาและยุโรป ตั้งแต่ปลายปี 2003 เป็นต้นมา ระบบนี้ได้รับอนุมัติขึ้นทะเบียนจากสำนักงานอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2003 ผลิตโดยบริษัทแห่งหนึ่งในเมืองเซนต์หลุยส์ ทำการศึกษานำร่องในโรงพยาบาลที่เป็นศูนย์โรคหัวใจขนาดใหญ่รวมทั้งสิ้น 15 แห่ง
คลื่นแม่เหล็กที่ถูกควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ดังกล่าวนี้ ช่วยให้แพทย์สอดใส่ขดลวดนำได้อย่างง่ายดายและในทิศทางที่ถูกต้องแม่นยำ เมื่อนำมาใช้ในกรณีผู้ป่วยที่เส้นเลือดมีความคดเคี้ยวผิดปกติ จึงช่วยให้ผลการรักษาด้วยการทำบอลลูนดีขึ้นอย่างมาก รายงานการศึกษาวิจัยล่าสุดเมื่อปลายปี 2006 พบว่า ได้ผลดีถึงร้อยละ 92 ส่วนใหญ่เป็นการตีบตันของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจทางด้านหลัง หนึ่งในห้าเป็นเส้นเลือดที่เลี้ยงผนังหัวใจด้านหน้า และอีกหนึ่งในห้าเป็นเส้นเลือดโคโรนารีขวา
การทำสเต้นท์ (stent)

โดยทั่วไปพบ ว่า ในผู้ป่วยที่รักษาด้วยการทำบอลลูนร้อยละ 30 หรือประมาณหนึ่งในสามราย มีโอกาสที่เส้นเลือดจะตีบอีกภายใน 1 ปี ซึ่งผู้ป่วยในส่วนร้อยละ 30 ที่ว่านี้ แพทย์จะใช้วิธีการทำสเต้นท์ ซึ่งเป็นตาข่ายลวดเล็กๆ ที่สามารถขยายใหญ่ขึ้นได้
วิธีการทำสเต้นท์ จึงหมายถึง การเอาตาข่ายเล็กๆ ครอบบอลลูน แล้วสอดเข้าไปในเส้นเลือดจากบริเวณขาหนีบ เช่นเดียวกับการทำบอลลูน เมื่อถึงบริเวณเส้นเลือดที่ตีบ ก็ปั้มให้บอลลูนขยายตัว บอลลูนก็จะดันให้สเต้นท์ขยายตัว ขึงอยู่ที่เส้นเลือด เพื่อไม่ให้เส้นเลือดแฟบตีบอีก
ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการทำสเต้นท์
   1.ปฏิกิริยาแพ้
   2.ก้อนเลือดอุดตัน
   3.ก้อนเลือดจับที่สเต้นท์
   4.เกิดการฉีกขาดของท่อหรือเส้นเลือดที่ใส่สเต้นท์ไว้
การทำผ่าตัดบายพาส
ผู้ป่วยที่ทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจได้ผลดี ก็ไม่จำเป็นต้องทำสเต้นท์ แต่หากทำบอลลูนแล้ว เส้นเลือดยังกลับแฟบตีบอีก ก็ต้องใส่สเต้นท์ เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะมีการทำสเต้นท์ในผู้ป่วยรายใด ผู้ป่วยรายนั้นจะต้องผ่านการทำบอลลูนมาก่อนเสมอ
แต่ผู้ป่วยที่ทำบอลลูนแล้วเส้นเลือดกลับมาตีบอีก แพทย์อาจวินิจฉัยให้ทำการผ่าตัด หรือทำสเต้นท์ก็ได้ ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับอาการของการตีบ ความรุนแรง และการวินิจฉัยของแพทย์ เช่น เมื่อแพทย์เห็นว่าผู้ป่วยมีอายุมาก ก็อาจจะทำเสต้นท์ซักทีก่อน ถ้าไม่ได้ผลก็ทำการผ่าตัด หรืออาจให้ทำการผ่าตัดเลยก็ได้
ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพ กรุงเทพ



คำอธิบาย: Web Hosting

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น