วันเสาร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เบาหวานกับไขมันในเลือด


โรคเบาหวาน คือ โรคที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งเป็นผลจากการที่ร่างกายสร้างฮอร์โมนอินสุลินลดลง หรือร่างกายตอบสนองต่อฤทธิ์ของฮอร์โมนอินสุลินลดลง ฮอร์โมนอินสุลิน นอกจากจะมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดแล้ว ยังมีผลต่อการเผาผลาญไขมันในร่างกายด้วย โดยมีฤทธิ์ยับยั้งการสลายไขมันในร่างกาย ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานจึงพบความผิดปกติของไขมันในเลือดได้บ่อยกว่าคนทั่วไป กล่าวคือ ผู้ป่วยเบาหวานมักจะพบความผิดปกติของระดับไตรกลีเซอไรด์ที่สูงขึ้น และระดับเอช ดี แอล โคเลสเตอรอลที่ลดลง ส่วนระดับแอล ดี แอล โคเลสเตอรอลมักจะไม่แตกต่างจากคนที่ไม่เป็นเบาหวาน ไขมันในเลือดที่ผิดปกติในผู้ป่วยเบาหวานนอกจากจะเกิดจากโรคเบาหวานเองแล้ว ยังอาจเกิดจากยาต่างๆ ที่ใช้ร่วมด้วย เช่น ยาลดความดันโลหิตสูงบางชนิด นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากโรคแทรกซ้อนของโรคเบาหวานเอง ได้แก่ โรคแทรกซ้อนทางไตในผู้ป่วยเบาหวาน หรือโรคเบาหวานลงไต ซึ่งจะมีผลทำให้ระดับแอล ดี แอล โคเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น หรืออาจจะเกิดจากโรคไทรอยด์ที่ทำงานผิดปกติ เป็นต้น


ไขมันในเลือดผิดปกติมีผลอย่างไรต่อผู้ป่วยเบาหวาน
 
 
ไขมันที่ผิดปกติจะทำให้หลอดเลือดแดงใหญ่เกิดการตีบตัน ซึ่งพบได้ทั้งในผู้ป่วยที่เป็นและไม่เป็นเบาหวาน แต่ผู้ป่วยเบาหวานจะมีการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงมากกว่า และเกิดได้ในคนที่อายุน้อยกว่า นอกจากนี้ยังพบว่าระดับไขมันที่ผิดปกติยังสัมพันธ์กับการเกิดพยาธิสภาพของหลอดเลือดฝอย และมีผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลของผู้ป่วยเบาหวานอีกด้วย



ผลต่อหลอดเลือดแดงใหญ่


ทำให้หลอดเลือดแดงตีบตัน เป็นผลให้อวัยวะสำคัญต่างๆ ของร่างกายมีเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ เช่น ถ้าหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบตัน จะทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันเป็นผลให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก หรือเสียชีวิตโดยเฉียบพลันได้


ถ้าเกิดที่หลอดเลือดไปเลี้ยงสมองตีบตัน จะทำให้เกิดโรคอัมพาต โดยจะมีอาการแขนขาอ่อนแรง หรือชาครึ่งซีก นอกจากนี้ถ้าหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงขาตีบตัน ก็จะทำให้เกิดอาการปวดบริเวณต้นขา หรือน่องเวลาเดินไกลๆ และถ้าหลอดเลือดตีบมากๆ อาจจะทำให้เกิดแผลที่เท้าได้ และเป็นสาเหตุให้แผลที่เท้าในผู้ป่วยเบาหวานหายได้ยาก และช้ากว่าปกติ


ผลต่อหลอดเลือดแดงฝอย


ระดับไขมันในเลือดที่สูง จะมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคแทรกซ้อน ที่หลอดเลือดฝอยของตา และไตในผู้ป่วยเบาหวาน หรือที่เรียกกันว่า เบาหวานขึ้นตาและลงไต เป็นผลให้การมองเห็นของสายตาลดลง และการทำงานของไตเสื่อม หรือไตวาย


ผลต่อการควบคุมน้ำตาลในเลือด


ไขมันไตรกลีเซอไรด์ที่สูงจะมีผลทำให้ระดับน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวานสูงขึ้นได้ ซึ่งอธิบายได้จากกรดไขมันอิสระที่สูง กรดไขมันอิสระที่สูง จากภาวะที่มีไตรกลีเซอไรด์สูงจะมีผลยับยั้งขบวนการเผาผลาญน้ำตาลกลูโคสในเซล และยังทำให้มีการสร้างแลปล่อยน้ำตาลกลูโคสจากตับเพิ่มขึ้น และในทางกลับกันภาวะน้ำตาลในเลือดที่สูง ซึ่งเป็นผลจากการที่ร่างกายมีฮอร์โมนอินสุลินไม่เพียงพอ หรือการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนอินสุลินลดลง ก็จะมีผลทำให้ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงขึ้นได้ ซึ่งเป็นผลจากการที่ตับสร้างไตรกลีเซอไรด์เพิ่มขึ้น


ผู้ป่วยเบาหวานควรจะมีระดับไขมันในเลือดเท่าไร

ระดับไขมันในเลือดเหมาะสมในผู้ป่วยเบาหวาน คือ


แอล ดี แอล โคเลสเตอรอล น้อยกว่า 100 มก./ดล.


เอช ดี แอล โคเลสเตอรอล มากกว่า 45 มก./ดล.


ไตรกลีเซอไรด์ น้อยกว่า 150 มก./ดล.


การรักษาไขมันในเลือดผิดปกติในผู้ป่วยเบาหวานทำได้อย่างไรบ้าง


การรักษาประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 อย่าง คือ การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และการใช้ยา


การควบคุมอาหาร มีหลักดังต่อไปนี้ คือ


1.รับประทานอาหารในปริมาณที่พอเหมาะ เพื่อที่จะให้น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ไม่อ้วน หรือไม่ผอมเกินไป


2.รับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่ ได้แก่ แป้ง โปรตีน ไขมัน วิตามิน เกลือแร่ และใยอาหาร


3.หลีกเลี่ยง หรือลดการรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว และอาหารที่มีปริมาณโคเลสเตอรอลสูง ไขมันอิ่มตัวจะพบในไขมันจากสัตว์ น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว และกะทิ สำหรับโคเลสเตอรอลนั้นจะพบในเนื้อสัตว์ เครื่องใน ไข่แดง และนมเนยต่างๆ

การออกกำลังกาย


การออกกำลังกายอย่างพอเหมาะ และสม่ำเสมอ นอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังช่วยลดระดับแอล ดี แอล โคเลสเตอรอล และทำให้เอช ดี แอล โคเลสเตอรอลสูงขึ้นด้วย


การใช้ยา


ถ้าควบคุมอาหาร และออกกำลังกายแล้วไม่สามารถลดระดับไขมันในเลือดถึงระดับที่ต้องการแล้ว จำเป็นต้องพิจารณาการใช้ยาลดระดับไขมันในเลือดร่วมด้วย ผู้ป่วยเบาหวานที่มีระดับไขมันแอล ดี แอล โคเลสเตอรอลสูงอย่างเดียว หรือมีไขมันแอล ดี แอล โคเลสเตอรอลสูงร่วมกับไขมันไตรกลีเซอไรด์สูงควรพิจารณาใช้ยาในกลุ่ม statin เป็นยากลุ่มแรกในผู้ป่วยเบาหวานที่มีระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์สูงอย่างเดียว ยาที่เหมาะสมคือยาในกลุ่ม fibrate


ยาลดระดับไขมันในเลือด ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันพบว่ามีผลข้างเคียงน้อย และมีความปลอดภัยสูง นอกจากนี้ยังพบว่าสามารถลดอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดแดงตีบตัน และโรคหัวใจขาดเลือดในผู้ป่วยเบาหวานได้




ที่มา : นพ.ชัยชาญ ดีโรจนวงศ์


Website Hosting

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น